top of page

การสร้างคำสามัญให้เป็นคำราชาศัพท์

 


      วิธีเปลี่ยนคำนามสามัญให้เป็นคำนามราชาศัพท์
               ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และก็คงมีประเทศเดียวในโลกที่มีคำประเภท“ราชาศัพท์” ใช้อย่างมากมายและมีระเบียบ จนบางครั้งก็ทำให้งวยงงสงสัยว่าจะใช้คำราชาศัพท์อย่างไรกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ การใช้คำ “ราชาศัพท์” นับว่าเป็นวัฒนธรรมทางด้านภาษาอย่างหนึ่งของไทยเรา ที่เราควรจะทราบไว้บ้าง ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ “วิธีเปลี่ยนคำนามสามัญให้เป็นคำนามราชาศัพท์” เท่านั้น
คำนามราชาศัพท์ที่ใช้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทั่วไปนั้น บางคำท่านก็ได้บัญญัติขึ้นใช้โดยเฉพาะ เช่น ตำหนัก พลับพลา ฯลฯ บางคำก็ใช้คำนามสามัญ แต่มีคำอื่นประกอบข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง เพื่อให้แปลกกว่าคำธรรมดา เช่น พระหัตถ์ พระบาท ราชบุตร ช้างต้น ม้าต้น รถพระที่นั่ง ฯลฯ วิธีเปลี่ยนคำนามสามัญให้เป็นคำนามราชาศัพท์นั้นอาจารย์กำชัย ทองหล่อ กรรมการชำระปทานุกรม แห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ
“หลักภาษาไทย” ของท่านดังนี้

     ๑. ถ้าคำนามสามัญ เป็นคำไทยที่ใช้เกี่ยวกับพระราชาในฐานเป็นเครือญาติ ยวดยานพาหนะ สถานที่ เป็นต้น ให้ใช้คำว่า “หลวง, ต้น, พระที่นั่ง” ประกอบข้างหลัง เช่น ลูกหลวง หลานหลวง เรือหลวง วังหลวง สวนหลวง ช้างต้น ม้าต้น เรือพระที่นั่ง รถพระที่นั่ง ม้าพระที่นั่ง ฯลฯ
    ๒. ถ้าคำนามสามัญ เป็นคำไทยที่ใช้เกี่ยวข้องกับเจ้านายให้ใช้คำว่า “ทรง, ที่นั่ง” ประกอบข้างหลัง เช่น เครื่องทรง ผ้าทรง ช้างทรง ม้าทรง รถทรง ช้างที่นั่ง ม้าที่นั่ง รถที่นั่ง ฯลฯ
เฉพาะ “รถ” และ “เรือ” ถ้าใช้สำหรับฝ่ายใน ให้ใช้คำ “พระประเทียบ” ประกอบข้างหลัง เช่น รถพระประเทียบ เรือพระประเทียบ
    ๓. ถ้าคำนามสามัญ เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีหรือสันสกฤต แต่นำมาใช้เกี่ยวกับพระราชาหรือเจ้านาย เป็นชื่อของอวัยวะ กิริยา อาการ และความเป็นไป เครือญาติ บริวาร เครื่องใช้ เป็นต้น ให้ใช้คำ “พระ” นำหน้าบ้างก็ได้ เช่น พระกร พระเนตร พระหัตถ์ พระพักตร์ พระอุตสาหะ พระเคราะห์ พระชะตา พระอัยกา พระอาจารย์ ฯลฯ
คำไทยและคำเขมรบางคำ จะใช้ “พระ” นำหน้าบ้างก็ได้ เช่น พระฉาย พระแสง พระที่ พระแท่น พระอู่ พระยี่ภู่ พระเขนย พระสนม พระขนง ฯลฯ
    ๔. ถ้าคำนามสามัญ เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีหรือสันสกฤต แต่นำมาใช้เกี่ยวกับพระราชาโดยเฉพาะ หรือเกี่ยวกับพระราชินีและพระยุพราช เพื่อแสดงความสำคัญยิ่งกว่าที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๓ ให้ใช้คำ “พระราช” นำหน้า เช่น พระราชบิดา พระราชมารดา พระราชโอรส พระราชธิดา พระราชครู พระราชสาสน์ ฯลฯ
ตามปกติ คำ “พระราช” ใช้นำหน้าคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นพื้นแต่บางทีก็ใช้นำหน้าคำไทยบางคำด้วย เช่น พระราชดำริ พระราชปรารภ พระราชประสงค์ พระราชอำนาจ พระราชวัง ฯลฯ
    ๕. ถ้าคำนามสามัญ เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต แต่นำมาใช้เกี่ยวกับพระราชา หรือพระพุทธเจ้า เพื่อแสดงพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ เป็นคำนามที่แสดงความสำคัญยิ่งกว่าที่กล่าวแล้วในข้อ ๔ ให้ใช้คำ “พระบรม” นำหน้า เช่น พระบรมวงศานุวงศ์ พระบรมโกศ พระบรมเดชานุภาพ พระบรมอัฐิ พระบรมครู พระบรมธาตุ ฯลฯ
หรือจะใช้คำ “พระบรมราช” นำหน้าในเมื่อบ่งถึงพระราชาโดยเฉพาะ และใช้คำ “พระบรมพุทธ” นำหน้า ในเมื่อบ่งถึงพระพุทธเจ้าก็ได้ เช่น พระบรมราชโองการ พระบรมราชาภิเษก พระบรมราโชวาท พระบรมราชูปถัมภ์ พระบรมพุทโธวาท พระบรมพุทธานุสาสน์ ฯลฯ เฉพาะคำว่า “วัง” ที่ต้องการจะแสดงพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ ท่านใช้คำ “พระบรมมหาราช” นำหน้า เป็น “พระบรมมหาราชวัง”
     ๖. ถ้าเป็นคำนาม ซึ่งเป็นชื่อที่ประทับของพระราชา และมีเศวตฉัตร ให้ใช้คำ “พระที่นั่ง” นำหน้า เช่น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย (-อะ-มะ-ริน-วิ-นิด-ไฉ) พระที่นั่งสุริยามรินทร์ (-สุ-ริ-ยา-มะ-ริน) ฯลฯ
    ๗. คำนามสามัญที่ใช้ประกอบข้างหน้า หรือข้างหลังนามราชาศัพท์เพื่อบอกชนิดหรือรูปลักษณะของนามราชาศัพท์นั้น ให้ใช้คำธรรมดา ไม่ต้องทำให้เป็นราชาศัพท์อีก เช่น พานพระศรี หีบพระศรี ถาดพระสุธารส พระโอสถเส้น พระโอสถมวน พระโอสถกล้อง ฉลองพระหัตถ์ส้อม ฯลฯ
    ๘. คำนามที่กล่าวถึงเครือญาติ ถ้าเป็นคำไทย ให้ใช้คำ “พระเจ้า” นำหน้า เช่น พระเจ้าปู่ พระเจ้าย่า พระเจ้าตา พระเจ้ายาย พระเจ้าลุง พระเจ้าป้า พระเจ้าอา พระเจ้าหลาน ฯลฯ
ถ้าเป็นคำบาลีหรือสันสกฤตให้ใช้
ก. คำ “พระ” นำหน้าสำหรับ เจ้านาย เช่น พระอัยกา พระอัยยิกา พระชนก พระชนนี พระเชษฐา พระอนุชา ฯลฯ
ข. คำ “พระราช” นำหน้าสำหรับ พระราชา เช่น พระราชบิดา พระราชมารดา พระราชชนนี พระราชอนุชา
ตัวอย่างคำราชาศัพท์
คำราชาศัพท์ แปลตามรูปศัพท์ หมายถึง ถ้อยคำสำหรับพระราชา แต่ตามหลักภาษาไทย หมายถึง คำที่ใช้กับพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงพระสงฆ์ และสุภาพชนทั่วไปด้วย


 

bottom of page